วันศุกร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ประเพณีทำบุญโคนไม้ จ.ตราด




ช่วงเวลา
ช่วงเดือนเมษายน และหลังจากวันเพ็ญเดือนสิบสอง



ความสำคัญ
การทำบุญโคนไม้ เป็นประเพณีพื้นบ้านอย่างหนึ่งของจังหวัดตราดที่ทำเป็นประจำทุกปี สะท้อนให้เห็นถึงความสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันของคนในหมู่บ้านในชุมชน การทำบุญโคนไม้และการทำบุญตามสถานที่สำคัญในหมู่บ้าน นอกจากจะให้ผลในการดำเนินชีวิตโดยตรงแก่ผู้ใหญ่แล้ว ยังเป็นการปลูกฝังให้ลูกหลานของตนรู้จักรักป่า แผ่นดิน และพื้นน้ำ ไม่คิดทำลายธรรมชาติ ที่ตนต้องพึ่งพาอาศัย ในขณะเดียวกันยังสอดแทรกคุณธรรมเรื่องความกตัญญูรู้คุณสืบทอดให้แก่ลูกหลานในหมู่บ้าน ให้รู้จักการทำบุญให้ทาน มีความเมตตาเอื้อเฟื้อ รู้จักรักผู้อื่น อันเป็นคุณธรรมหลักของการอยู่ร่วมกัน


พิธีกรรม
ชาวบ้านจะนัดหมายกันหลังจากทำบุญสงกรานต์หรือหลังจากทำบุญทอดผ้าป่าคืนวันลอยกระทง แล้วมอบหน้าที่ให้แก่ไวยาวัจกรหรือบุคคลอื่นที่เหมาะสม นิมนต์พระ เมื่อถึงวันทำบุญ ชาวบ้านจะเตรียมอาหารหวานคาว ดอกไม้ ธูปเทียน ไปยังสถานที่นัดหมาย ทำพิธีกรรมทางสงฆ์ ถวายทานแก่พระสงฆ์ กรวดน้ำเหมือนทำบุญถวายสังฆทาน หลังจากเสร็จพิธีทางสงฆ์แล้ว ชาวบ้านจะทำพิธีแห่เรือมีการตีไม้ล่อนำหน้าขบวนไปยังห้วยหนองคลองบึง เพื่อทำพิธีปล่อยเรือที่ทำด้วยกาบหมาก ขดหัวท้ายให้คล้ายเรือ ภายในบรรจุด้วยดอกไม้ ธูปเทียน อาหารคาวหวาน หอม กระเทียม เกลือ พริก เป็นต้น น้อมจิตอุทิศส่วนบุญกุศลให้แก่ผีป่า ผีโป่ง ผีทุ่ง ผีนา พร้อมกับฝากโรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายไปกับเรือ เสร็จพิธีแล้วจะกลับมายังสถานที่บำเพ็ญบุญเพื่อรับประทานอาหารเป็นอันเสร็จพิธี

สาระ
เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีแก่ภูตผีที่สิงสถิตอยู่ตามต้นไม้ ผีทุ่ง ผีนา ที่ช่วยคุ้มครองรักษาให้ชาวบ้านอยู่ร่มเย็นเป็นสุข ทำมาหากินเจริญรุ่งเรือง ปราศจากภัย

ไม่มีความคิดเห็น: