วันพฤหัสบดีที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง



ช่วงเวลา


ช่วงเทศกาลออกพรรษา ในระหว่างวันขึ้น 12-15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี




รูปแบบประเพณี


ในวันขึ้น 14 ค่ำ จะเป็นวันแห่ปราสาทผึ้งที่ยิ่งใหญ่ตระการตา เพื่อนำปราสาทผึ้งไปตั้งไว้เป็นพุทธบูชา ณ บริเวณวัดพระธาตุเชิงชุมชวรวิหาร ด้วยความศรัทธาของชาวอีสาน ที่เชื่อว่าในเทศกาลออกพรรษาพระพุทธเจ้าจะเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อมาโปรดเวไนยสัตว์ในโลกมนุษย์ให้พ้นทุกข์

ประเพณีเข้าพรรษา จ.อุบลราชธานี



ช่วงเวลา


เข้าพรรษา


ความสำคัญ

เทศกาลเข้าพรรษา เพื่อปรารถนาให้ตนเองเป็นผู้เฉลียวฉลาด มีไหวพริบ ประดุจ แสงสว่างของดวงเทียน
เทียนพรรษา คือ เทียนขนาดใหญ่และยาวเป็นพิเศษกว่าเทียนชนิดอื่น สำหรับจุดใน โบสถ์ตั้งแต่วันเข้าพรรษาจนถึงวันออกพรรษา


พิธีกรรม

เป็นการแสดงออกถึงความสามัคคีกลมเกลียวในหมู่คณะไปในตัว การสรรหาภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่มีฝีมือทางช่าง มีความรู้ ความชำนาญในเรื่อง การทำลวดลายไทย การแกะสลักลวดลายลงบน ต้นเทียน การทำเทียนให้เป็นลายไทย แล้วนำไปติดบนต้นเทียน การประดับด้วยผ้าฝ้าย ผ้าไหม ดอกไม้สด ล้วนแล้วแต่เป็นฝีมือของช่างในท้องถิ่น ส่วนการจัดขวนแห่ก็ล้วนแต่ใช้ของพื้นเมือง เช่น เครื่องแต่งกายขอขบวนฟ้อน จะใช้ผ้าพื้นเมืองเป็นหลัก การฟ้อนรำจะใช้ท่ารำที่ดัดแปลงมาจาก วิถีชีวิต การทำมาหากินของชาวบ้าน เป็นท่ารำในรูปแบบของศิลปะที่งดงาม ดนตรีประกอบก็เป็น เครื่องดนตรีประจำถิ่น ผสมเข้ากับการขับร้องที่สนุกสนานเร้าใจ ทำให้งานประเพณีนี้ยิ่งใหญ่ ประชาชนต่างเฝ้ารอคอย

ประเพณีผีตาโขน จ. ขอนแก่น


รูปแบบประเพณี
งานประเพณีแห่ผีตาโขน ผูกพันแนบแน่นกับองค์พระธาตุศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองคือ องค์พระธาตุศรีสองรักษ์ ที่เชื่อกันว่าสร้างขึ้นโดยพระมหาจักรพรรดิฝ่ายกรุงศรีอยุธยาและพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชฝ่ายกรุงศรีสัตนาคนหุด เพื่อเป็นประจักษ์พยานถึงมิตรภาพระหว่างกัน วงจรของประเพณีผีตาโขน เริ่มต้นขึ้นโดยบุคคลศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองสองคนคือ เจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียม ที่มีฐานะเป็นดังผู้วิเศษหมอผี และครูใหญ่ของเมืองที่มีหน้าที่หลักในการดูแลองค์พระธาตุศรีสองรัก พระธาตุคู่เมืองด่านซ้ายโดยเจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียม จะเป็นจุดเริ่มต้นวงจรของประเพณีนี้เริ่มต้นจากพิธีบายศรีที่บ้านของเจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียมในภาคเช้า และระหว่างที่พิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์กำลังดำเนินอยู่นั่นเอง เด็ก ๆ ในทุกบ้านเรืองของเมืองด่านซ้ายก็จะช่วยกันจัดหาเศษผ้ามาเย็บเป็นเสื้อผ้าของผีตาโขน หาอุปกรณ์คือหวดนึ่งข้าวเหนียวและแกนก้านมะพร้าวมาทำหน้ากากผีตาโขนด้วยการวาดลวดลายเพิ่มสีสันเป็นผีตาโขนที่หน้าตาโหดร้ายน่ากลัว หา "หมากกะแหล่ง" หรือกระดึงผูกคอวัวควายมาทำเป็นเครื่องประดับ และที่สำคัญที่สุดที่ผีตาโขนหลายตัวประณีตบรรจงประดิดประดอยเป็นที่สุดก็คือ อาวุธของผีตาโขนเป็นดาบใหญ่ ทำด้วยไม้มีทีเด็ดของดาบอยู่ที่ปลายด้ามดาบที่ทำเป็นรูปปลัดขิกอันโต ทายอดกลม ๆ เป็นสีแดงแจ๋ เอาไว้ไล่จิ้มสาว ๆ ในเมืองโดยเฉพาะ ในภาคบ่ายจะเป็นพิธีการในฝ่ายราชการ เป็นการแห่ผีตาโขน โดยจัดรูปขบวนแห่ อันประกอบด้วยผีตาโขนใหญ่ ที่ทำเป็นหุ่นใหญ่คล้ายหัวโตของภาคกลาง และผีตาโขนเล็ก เป็นเด็ก ๆ ผู้ชายในเมืองเกือบทั้งหมด ภาคค่ำเป็นการชุมนุมกันฟังเทศน์มหาชาติของผู้เฒ่าผู้แก่และผู้ใหญ่ในเมือง ส่วนในวันที่สอง ตั้งแต่เช้าเป็นการออกอาละวาดไปทั่วเมืองของชาวผีตาโขน และตกช่วงบ่ายจะเป็นพิธีจุดบั้งไฟขอฝน เป็นอันหมดสิ้นประเพณีแห่ผีตาโขนรวม 2 วันกับหนึ่งคืนด้วยกัน

จุดเด่นของพิธีกรรม
จุดเด่นที่สุดของงานนี้จะมีอยู่ด้วยกันสองช่วงคือ ภาคบ่ายวันแรกอันเป็นขบวนแห่ผีตาโขนอันน่าสนุกสนานและสวยงาม และวันที่สองช่วงสายที่ผีตาโขนจะออกอาละวาดไปทั่วเมือง

ประเพณีบุญผะเหวด จ.เลย



ช่วงเวลา


จัดขึ้นในเดือนที่ 4 ของไทยหรือเดือนมีนาคม โดยกำหนดจัดงานในวันเสาร์และอาทิตย์แรกของเดือนมีนาคมทุกปี




ความสำคัญ
หลายคนคงจะสงสัยอยู่ว่าคำว่า "ผะเหวด" มีความหมายอย่างไร คำว่า "ผะเหวด" นั้นเป็นการออกเสียงตามสำเนียงอีสาน มาจากคำว่า "พระเวส" หมายถึงพระเวสสันดร งานบุญผะเหวดเป็น 1 ในประเพณี 12 เดือน หรือ ฮีตสิบสอง ของชาวอีสาน (การทำบุญประเพณี 12 เดือน) ประเพณีบุญผะเหวดหรือบุญเดือนสี่นั้น สะท้อนให้เห็นถึงความศรัทธาอันแรงกล้าในพระพุทธศาสนา ซึ่งชาวอีสานยึดถือและปฏิบัติกันมาช้านานและอย่างเคร่งครัด เพราะถือว่าเป็นงานบุญใหญ่ที่สุดก็ว่าได้ การจัดงานบุญผะเหวดนั้นอยู่ที่การเทศน์เรื่องพระเวสสันดรชาดกหรือเทศน์มหาชาติ มีจำนวนทั้งหมด 13 กัณฑ์ โดยชาวอีสานมีความเชื่อว่าถ้าหากว่าฟังเทศน์ครบทั้งหมดวันเดียวและจัดเตรียมเครื่องคาย (บูชา) ได้ถูกต้อง ก็จะได้เกิดในศาสนาพระอริยเมตไตรย แต่ถ้าหากตั้งเครื่องคาย (บูชา) ไม่ถูกต้อง จะทำให้เกิดอาเพศและสิ่งไม่ดีต่างๆ ตามมา จึงทำให้ทุกคนในหมู่บ้านให้ความสำคัญกับงานนี้อย่างมาก โดยจะมาทำพิธีร่วมกันอีกประการหนึ่ง คือ เพื่อระลึกถึงพระเวสสันดร พระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญเพียรบารมีชาติสุดท้ายของพระองค์ก่อนจะเสวยชาติ และตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในภายหลัง



ลัษณะประเพณี
บุณผะเหวด หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า บุญมหาชาติ เป็นประเพณีบุญตามฮีตสิบสองของชาวอีสาน แต่ถ้าถือเป็นเรื่องทาน ก็เป็นประเพณีการบริจาคทานครั้งยิ่งใหญ่ ในตำนานฮีตสิบสอง ได้กล่าวถึงการทำบุญผะเหวด ไว้ว่า "ฮอดเดือน ๔ ให้พากันเก็บ ดอกจาน สานบั้งไม้ไผ่เสียบดอกจิก ..." ก็พอจะอนุมานได้ถึงสภาพทั่วไปของชาว อีสานว่า ดอกจิก ดอกจาน บานราวต้นเดือนสาม พุทธศาสนิกชนจะเก็บดอกไม้เหล่านี้ มาร้อยเป็นมาลัยเพื่อตกแต่งศาลาการเปรียญสำหรับบุญมหาชาตินี้เอง และในงานนี้ ก็จะมีการเทศน์มหาชาติ ซึ่งถือว่าเป็นงานอันศักดิ์สิทธิผู้ใดฟังเทศน์มหาชาติจบภายในวันเดียว และบำเพ็ญคุณงามความดี จะได้อานิสงส์ ไปเกิดในภพพระอริยเมตไตรย์
ชาวอีสาน จะจัดทำบุญผะเหวด ปีละหนึ่งครั้ง ระหว่างเดือน ๓ เดือน ๔ ไปจนถึงกลางเดือน ๕ โดยจะมีวันรวม ตามภาษาอีสาน เรียกว่า วันโฮมบุญ พุทธศาสนิกชนมาช่วยกันจัดตกแต่งศาลาหรือสถานที่ที่จะทำบุญ จัดเตรียมเครื่องสักการะ ดอกไม้ ธูปเทียน ข้าวตอก อย่างละพันก้อน มีการตั้งธงใหญ่ ไว้แปดทิศ และมีศาลเล็กๆ เป็นที่เก็บข้าวพันก้อน และเครื่องคาวหวาน สำหรับ ผี เปรต และมาร รอบๆ ศาลการเปรียญจะแขวน ผ้าผะเหวด เป็นเรื่องราวของพระเวสสันดร ตั้งแต่กัณฑ์ที่ ๑ ถึงกัณฑ์สุดท้าย
บุญผะเหวด หรืองานบุญมหาชาติ คืองานมหากุศล ให้รำลึกถึงการบำเพ็ญบุญ คือ ความดีที่ยิ่งยวด อันมีการสละความเห็นแก่ตัว เพื่อผลคือ ประโยชน์สุขอันไพศาลของมวลชนมนุษย์ชาติ เป็นสำคัญ ดังนั้น บรรพชนชาวไทยอีสานแต่โบราณ จึงถือเป็นเทศกาล ที่ประชาชนทั้งหลายพึงสนใจร่วมกระทำบำเพ็ญ และได้อนุรักษ์สืบทอดเป็นวัฒนธรรมสืบมา จนถึงอนุชนรุ่นหลังที่ควรเห็นคุณค่า และอนุรักษ์เป็นวัฒนธรรมสืบไป

ประเพณีไหลเรือไฟ จ. นครพนม






ช่วงเวลา

ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 (วันออกพรรษา)



ความสำคัญ
เป็นประเพณีที่ชาวนครพนมภาคภูมิใจ เพราะบรรพบุรุษ ได้ยึดถือปฏิบัติกันมานานตั้งแต่โบราณ โดยมีความเชื่อในประเพณีว่าเนื่องมาจากการบูชารอย พระพุทธบาทการสักการะท้าวพกาพรหม การบวงสรวจพระธาตุจุฬามณี และการระลึกถึงพระคุณของพระแม่คงคาการขอฝน การเอาไฟเผาความทุกข์ และการบูชาพระพุทธเจ้า


พิธีกรรม
ประเพณีไหลเรือไฟ บางทีเรียกว่า “ลอยเรือไฟ” หรือ “ล่องเรือไฟ “หรือ “ปล่อยเรือไฟ” โดยเฉพาะท้องถิ่นที่มีชัยภูมิเหมาะสม คือ มีแม่น้ำหรือลำน้ำ เท่าที่ปรากฏจะมีแนวทางที่คล้ายกันและอยู่บนพื้นฐานความเชื่อต่าง ๆ อาทิ ความเชื่อเกี่ยวกับการบูชารอยพระพุทธบาท ความเชื่อเกี่ยวกับการบวงสรวงพระธาตุจุฬามณีบนสวรรค์ ความเชื่อเกี่ยวกับการขอฝน ความเชื่อในการเอาไฟเผาความทุกข์ ความเชื่อเกี่ยวกับการขอขมาและระลึกถึงพระคุณพระแม่คงคา เป็นต้น เรือไฟในสมัยโบราณนั้นมีรูปแบบที่เรียบง่าย โดยทำจากต้นกล้วยและลำไม้ไผ่ที่หาได้มาจัดทำเป็นโครงเรือไฟง่าย ๆ พอที่จะทำให้ลอยน้ำได้ การรประดับตกแต่งเรือไฟภายในเรือไฟจะประดับด้วยดอกไม้ ธูป เทียน ตะเกียง ขี้ไต้ สำหรับจุดให้สว่างไสว ก่อนจะปล่อย เรือไฟลงกลางลำน้ำโขง ปัจจุบันได้จัดทำเรือไฟรูปแบบต่างๆ โดยมีการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาใช้ประกอบในการจัดทำ และประดับตกแต่งให้วิจิตรตระการตามากยิ่งขึ้น เมื่อปล่อยเรือไฟเหล่านี้ลงกลางลำน้ำโขงภายหลังการจุดไฟให้ลุกโชติช่วง แล้วจะเป็นภาพที่งดงามและติดตาตรึงใจตลอดไป

ประพณีบวชลูกแก้ว จ.เชียงราย



ช่วงเวลา

นิยมบวชในเดือน ๖ และเดือน ๘





ความสำคัญ
ชาวเหนือเรียกว่า " ปอยลูกแก้ว " ในการบวชลูกแก้วนี้มีความหมายถึงการบวชเณรด้วย ส่วนมากแล้ว ชาวบ้านนิยมให้บุตรชายของตนเองบวชเณรมากกว่าบวชพระ เพราะมีความเชื่อว่าให้ลูกชายของตนบวชเณรจะได้บุญมากกว่าบวชพระ


พิธีกรรม
ในพิธีปอยลูกแก้วนี้จะมีการจัดหาหญิงสาว ๒ - ๓ คนมาเป็นคนถือพาน ในพานนี้มีจีวร สบง และผ้าอังสะ เป็นต้น ในวันแห่ลูกแก้ว พ่อแม่ที่เป็นเจ้าภาพก็จะช่วยกันแต่งตัวลูกแก้วอย่างสวยงาม มีการสวมชฎาและประดับเครื่องแต่งกายอย่างวิจิตรตระการตา
มาก เอาลูกแก้วขึ้นขี่บนหลังม้า เดินขบวนแห่ด้วยกลองยาวอย่างเอิกเกริก บางทีก็มีเครื่องดนตรีพื้นเมืองร่วมด้วยในพิธีการเช่นนี้ บางแห่งถ้าเจ้าภาพจ้างคนมา " ซอ " เพื่อทำพิธีเรียก
ขวัญลูกแก้ว จะยิ่งใหญ่โตมากทีเดียว เพราะการเรียกขวัญนี้ชาวบ้านนิยมมากเป็นพิเศษ ตามปกติแล้วมีคนซอ ๒ คน เป็นผู้หญิงหนึ่งคน และผู้ชายหนึ่งคน แล้วจะมีการตอบโต้กันเป็น
เรื่อง ๆ ไป ว่ากันเป็นกลอนสด

ประเพณีขึ้นธาตุเดือน 9 จ.เพชรบูรณ์


ช่วงเวลา

ขึ้น ๑๔ และ ๑๕ ค่ำ เดือนเก้า ของภาคเหนือ (หรือเดือนเจ็ด ของภาคกลาง) ประมาณเดือนมิถุนายน (หรือปลายเดือนพฤษภาคม)


ความสำคัญ

เพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า


สาระ

เพื่อบวงสรวงและบูชาเทพยดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ขอพรให้ปกป้องรักษาคุ้มครองให้บ้านเมืองมี ความร่มเย็น บังเกิดความสุขความเจริญแก่ประชาชนทั้งปวง

ประเพณีกรวยสลาก จ.แพร่


ช่วงเวลา
ประเพณีกรวยสลาก หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า กินก๋วยสลาก ได้ปฏิบัติกันมาเป็นประจำ ทุกปีเกือบทุกวัด เริ่มจะไม่มีกำหนดตายตัว อาจจะทำในช่วงเข้าพรรษาก็เคยมี


ความสำคัญ
เป็นงานประเพณีของท้องถิ่นที่ปฏิบัติกันมาเป็นประจำทุกปี ทุกบ้านจะหยุดงานเพื่อมาร่วมกันเตรียม งาน เตรียมกองสลาก เตรียมจัดอาหารเลี้ยงผู้ที่มาร่วมงาน

สาระ
เป็นประเพณีของชาวพุทธที่มีการทำบุญให้ทานรับพรจากพระ จะทำให้เกิด สิริมงคลแก่ตน และอุทิศ ส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว เป็นการระลึกถึงบุญคุณของผู้มีพระคุณ และเป็นการแสดงออกถึงความ สามัคคีของคนในชุมชน

ประเพณีสารทดือนสิบ จ.นครศรีธรรมราช


ช่วงเวลา
ระยะเวลาของการประกอบพิธีสารทเดือนสิบมีขึ้นในวันแรม๑ค่ำถึงแรม๑๕ค่ำเดือนสิบแต่วันที่ชาวนครศรีธรรมราชนิยมทำบุญคือวันแรม ๑๓-๑๕ ค่ำ


ความสำคัญ
เป็นความเชื่อของพุทธศาสนิกชนชาวนครศรีธรรมราช ที่เชื่อว่าบรรพบุรุษอันได้แก่ ปู่ย่า ตายาย และญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว หากทำความชั่วจะตกนรกกลายเป็นเปรต ต้องทนทุกข์ทรมานในอเวจี ต้องอาศัยผลบุญที่ลูกหลานอุทิศส่วนกุศลให้แต่ละปีมายังชีพ ดังนั้นในวันแรม ๑ ค่ำเดือนสิบ คนบาปทั้งหลายที่เรียกว่าเปรตจึงถูกปล่อยตัวกลับมายังโลกมนุษย์เพื่อมาขอส่วนบุญจากลูกหลานญาติพี่น้อง และจะกลับไปนรกในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือนสิบในโอกาสนี้เองลูกหลานและผู้ยังมีชีวิตอยู่จึงนำอาหารไปทำบุญที่วัด เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นการแสดงความกตัญญูรมให้ลูกหลานที่ไปร่วมพิธีตักบาตรธูปเทียนได้มีความรู้ความเข้าใจในประเพณี

ประเพณีลอยเรือ จ. กระบี่


ช่วงเวลา
๑๓-๑๕ ค่ำ เดือน ๖ และเดือน ๑๑
ความสำคัญ
ประเพณีลอยเรือเป็นประเพณีที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษดั้งเดิมของชาวอูรักลาโวย ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกระบี่และจังหวัดใกล้เคียง เมื่อถึงเวลาที่กำหนดสมาชิกในชุมชนและญาติพี่น้องที่แยกย้ายถิ่นไปทำมาหากินในแถบทะเล และหมู่เกาะต่าง ๆในทะเลอันดามันจะพากันเดินทางกลับมายังถิ่นฐาน เพื่อประกอบพิธีนี้
พิธีกรรม
ในวันขึ้น ๑๓ ค่ำ ช่วงเช้า ชาวเลจะเดินทางไปบริเวณที่จะทำพิธี ผู้หญิงจะทำขนม ผู้ชายจะสร้างและซ่อมแซมที่พักชั่วคราว ช่วงเย็น ทั้งหญิงและชายจะไปรวมกันที่ศาลบรรพบุรุษเพื่อนำอาหารเครื่องเซ่นไปเซ่นไหว้บรรพบุรุษเป็นการบอกกล่าวให้มาร่วมพิธีลอยเรือเช้าของวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ผู้ชายส่วนหนึ่งเดินทางไปตัดไม้ เพื่อนำไม้มาทำเรือผู้หญิงจะร้องรำทำเพลง ในขณะที่รอรับไม้บริเวณชายฝั่ง แล้วขบวนแห่จะแห่ไม้ไปวนรอบศาลบรรพบุรุษเพื่อนำกลับมาทำเรือ "ปลาจั๊ก" คืนวันขึ้น ๑๔ ค่ำ มีพิธีฉลองเรือโดยมีการรำรอบเรือ เพื่อถวายวิญญาณบรรพบุรุษโดยใช้ดนตรีและเพลงรำมะนาประกอบวงหนึ่งและอีกวงจะเป็นการรำวงแบบสมัยใหม่มีดนตรีชาโดว์ประกอบการร้องรำ โต๊ะหมอจะทำพิธีในช่วงเริ่มฉลองเรือและมีพิธีสาดน้ำตอนเที่ยงคืน (เลฮฺบาเลฮฺ) และทำพิธีอีกครั้งในช่วงเช้าตรู่วันขึ้น ๑๕ ค่ำ ก่อนนำเรือไปลอยในทิศทางลมซึ่งแน่ใจว่าเรือจะไม่ลอยกลับเข้าฝั่ง หลังจากนั้นแยกย้ายกันนอนพักผ่อนบ่ายวันขึ้น ๑๕ ค่ำ ผู้ชายส่วนหนึ่งแยกย้ายไปตัดไม้และหาใบกะพร้อเพื่อทำไม้กันผีสำหรับทำพิธีฉลองในเวลากลางคืน โดยมีพิธีกรรมเหมือนกับพิธีฉลองเรือทุกประการ จนกระทั่งใกล้จะสว่างโต๊ะหมอจะทำพิธีเสกน้ำมนต์ทำนายโชคชะตา และสะเดาะเคราะห์ให้สมาชิกที่เข้าร่วมพิธีก่อนจะอาบน้ำมนต์ และแยกย้ายกันกลับบ้านโดยนำไม้กันผีไปปักบริเวณรอบหมู่บ้านด้วย

งานเสด็จพระแข่งเรือ จ.ระนอง


ช่วงเวลา
งานเสด็จพระแข่งเรือเป็นงานประเพณีที่สำคัญของอำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง ซึ่งจัดขึ้นในช่วงออกพรรษาของทุกปี ประมาณเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน คือตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงวันแรม ๓ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกปี ณ บริเวณแม่น้ำกระบุรี ในช่วงคอคอดกระ


ความสำคัญ
เป็นประเพณีที่ชาวอำเภอกระบุรีจะร่วมกันตกแต่งเรืออย่างสวยงามเพื่อไปพายกันในแม่น้ำกระบุรีมีการประกวดเรือประเภทต่างๆ งานเสด็จพระแข่งเรือจัดขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๐ โดยสืบทอดประเพณีมาจากทางใต้


พิธีกรรม
๑. นำเรือมาตกแต่งให้สวยงามทำเป็นเรือพระ โดยจัดทำพนมพระอยู่กลางลำเรือ
๒. อัญเชิญพระพุทธรูปไปประดิษฐานในพนมพระกลางลำเรือแล้วจัดสมโภชพระพุทธรูปกลางน้ำ
๓.หลังจากสมโภชพระพุทธรูปกลางน้ำแล้วจะมีการแห่เรือพระไปตามลำน้ำกระบุรีซึ่งเป็นแม่น้ำกั้นพรมแดนระหว่างไทยกับพม่า
๔. การร้องเพลงเรือโดยเรือชาวบ้านมีการร้องเพลงเรือกันอย่างสนุกสนาน และมีการประกวดเพลงเรือด้วย
๕. มีการแข่งขันเรือประเภทต่างๆ เช่น ประกวดเรือยาว ประเภทสวยงาม ประเภทความคิดและประเภทตลกขบขัน

ประเพณีลากพระ จ.สุราษฎร์ธานี




ช่วงเวลา
วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑

ความสำคัญ
ลากพระเป็นพิธีบุญอย่างหนึ่งของชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานีและชาวปักษ์ใต้ที่กระทำสืบต่อกัน มาตั้งแต่โบราณกาล จนกระทั่งปัจจุบันนี้ สำหรับจังหวัดสุราษฎร์ธานีถือว่า ประเพณีนี้มีความสำคัญและยิ่งใหญ่กว่าประเพณีใด ๆ ที่จัดขึ้นในจังหวัดทั้งสิ้น โดยเฉพาะที่อำเภอเมืองจะมีลากพระบกและพระน้ำ กำหนดการลากพระ คือ วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกปีเป็นวันที่พระสงฆ์ ออกพรรษา หรือที่เรียกว่า "วันปวารณา"


พิธีกรรม
ก่อนการลากพระ ๑๐-๑๕ วัน ชาวบ้านและชาววัดจะช่วยกันจัดเตรียมทำเรือพระสำหรับที่จะลากกันอย่างหรูหราข้างบนทำเป็นบุษบกสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป ในช่วงเวลาก่อนถึงวันชักพระนี้จะมีการ "คุมโพน" หรือ "คุมพระ" คือการประโคม ฆ้อง กลอง ตะโพน เพื่อเป็นการซ้อมหรืออุ่นเครื่อง และเป็นการสร้างบรรยากาศอันคึกคักให้ชาวบ้านได้เตรียมตัวสำหรับกาลอันสำคัญนี้เรือพระบกแต่เดิมจะมีตัวไม้ใหญ่ ๒ อัน วางรองเป็นที่สร้างบุษบก การลากพระจึงเป็นการลากจริง ๆ ปัจจุบันใช้รถยนต์แทน การลากพระบกจะลากผ่านหมู่บ้าน จากวัดหนึ่งไปยังอีกวัดหนึ่ง หรือไปยังที่ชุมนุมเรือพระ ส่วนเรือพระน้ำจะทำเป็นแพโดยใช้เรือ ๑-๓ ลำ เป็นที่ตั้งของแพสำหรับลากไปในแม่น้ำลำคลองหรือทะเลในวันชักพระ คือวันแรม๑ค่ำ เดือน ๑๑ ตอนเช้าตรู่ชาวบ้านจะพากันไปทำบุญตักบาตรหน้าเรือพระเมื่อพระสงฆ์ฉันภัตตาหารแล้วจะเริ่มชักพระไปสู่ที่ชุมนุมเรือพระ ในอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานีเรือพระจะมาชุมนุมกันที่ริมแม่น้ำตาปี บริเวณท่าเรือเกาะสมุย เมื่อพระสงฆ์ฉันเพลแล้วจะมีการ "ซัดต้ม" ซึ่งเป็นเกมการแข่งขันปากันด้วยต้ม นอกจากนั้นในจังหวัดนี้ยังมีการ "แข่งเรือ" ตามปกติเรือพระจะกลับวัดในตอนเย็นของวันชักพระ แต่สำหรับในจังหวัดสุราษฎร์ธานี หลังจากมีการสมโภช ๑ คืนแล้ว เรือพระจะยังคงอยู่เพื่อให้ชาวบ้านไปทำบุญ ๓-๔ วัน จึงจะกลับวัด



วันศุกร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ประเพณีทำบุญโคนไม้ จ.ตราด




ช่วงเวลา
ช่วงเดือนเมษายน และหลังจากวันเพ็ญเดือนสิบสอง



ความสำคัญ
การทำบุญโคนไม้ เป็นประเพณีพื้นบ้านอย่างหนึ่งของจังหวัดตราดที่ทำเป็นประจำทุกปี สะท้อนให้เห็นถึงความสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันของคนในหมู่บ้านในชุมชน การทำบุญโคนไม้และการทำบุญตามสถานที่สำคัญในหมู่บ้าน นอกจากจะให้ผลในการดำเนินชีวิตโดยตรงแก่ผู้ใหญ่แล้ว ยังเป็นการปลูกฝังให้ลูกหลานของตนรู้จักรักป่า แผ่นดิน และพื้นน้ำ ไม่คิดทำลายธรรมชาติ ที่ตนต้องพึ่งพาอาศัย ในขณะเดียวกันยังสอดแทรกคุณธรรมเรื่องความกตัญญูรู้คุณสืบทอดให้แก่ลูกหลานในหมู่บ้าน ให้รู้จักการทำบุญให้ทาน มีความเมตตาเอื้อเฟื้อ รู้จักรักผู้อื่น อันเป็นคุณธรรมหลักของการอยู่ร่วมกัน


พิธีกรรม
ชาวบ้านจะนัดหมายกันหลังจากทำบุญสงกรานต์หรือหลังจากทำบุญทอดผ้าป่าคืนวันลอยกระทง แล้วมอบหน้าที่ให้แก่ไวยาวัจกรหรือบุคคลอื่นที่เหมาะสม นิมนต์พระ เมื่อถึงวันทำบุญ ชาวบ้านจะเตรียมอาหารหวานคาว ดอกไม้ ธูปเทียน ไปยังสถานที่นัดหมาย ทำพิธีกรรมทางสงฆ์ ถวายทานแก่พระสงฆ์ กรวดน้ำเหมือนทำบุญถวายสังฆทาน หลังจากเสร็จพิธีทางสงฆ์แล้ว ชาวบ้านจะทำพิธีแห่เรือมีการตีไม้ล่อนำหน้าขบวนไปยังห้วยหนองคลองบึง เพื่อทำพิธีปล่อยเรือที่ทำด้วยกาบหมาก ขดหัวท้ายให้คล้ายเรือ ภายในบรรจุด้วยดอกไม้ ธูปเทียน อาหารคาวหวาน หอม กระเทียม เกลือ พริก เป็นต้น น้อมจิตอุทิศส่วนบุญกุศลให้แก่ผีป่า ผีโป่ง ผีทุ่ง ผีนา พร้อมกับฝากโรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายไปกับเรือ เสร็จพิธีแล้วจะกลับมายังสถานที่บำเพ็ญบุญเพื่อรับประทานอาหารเป็นอันเสร็จพิธี

สาระ
เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีแก่ภูตผีที่สิงสถิตอยู่ตามต้นไม้ ผีทุ่ง ผีนา ที่ช่วยคุ้มครองรักษาให้ชาวบ้านอยู่ร่มเย็นเป็นสุข ทำมาหากินเจริญรุ่งเรือง ปราศจากภัย

ประเพณีกำฟ้า จ.ลพบุรี




ช่วงเวลา

วันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ ของทุกปี ซึ่งถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวไทยพวน




ความสำคัญ
กําฟ้า หมายถึง การนับถือฟ้า งานบุญกำฟ้าจึงเป็นงานบุญที่มีความเชื่อว่า เมื่อได้ประกอบพิธีกรรมและขอพรจากเทพยดาผู้รักษาฟ้าแล้ว เทวดาจะบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล มีความป็นสิริมงคล ทำมาค้าขึ้น

พิธีกรรม
วันสุกดิบ ตรงกับวันขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๓ ทุกคนในบ้านจะช่วยกันทำข้าวปุ้น (ขนมจีน) น้ำพริก น้ำยา และทำข้าวจี่ ปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นทำข้าวหลามแทน และเวลาประมาณบ่าย ๓ โมง นิมนต์พระสงฆ์ทำพิธีเจริญพระพุทธมนต์เสร็จแล้วพราหมณ์จะสวดบูชาเทพยดา เปิดบายศรี และอ่านประกาศอัญเชิญเทวดาให้มารับเครื่องสังเวยและในคืนวันสุกดิบ คือคนเฒ่าคนแก่ในบ้านจะเอาไม้ไปเคาะที่เตาไฟแล้วกล่าวคำเป็นมงคลในทำนองขอให้เทพยดาปกป้องรักษา วันกำฟ้าตรงกับวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ ทุกคนจะตื่นแต่เช้าตรู่ เตรียมอาหารคาวหวานไปถวายพระ โดยใส่บาตรข้าวหลามและข้าวจี่ หลังจากการถวายอาหารแด่พระสงฆ์แล้วจะมีการรับประทานอาหารร่วมกันและ เล่นกีฬาพื้นบ้าน หรือการละเล่นพื้นเมือง เช่น มอญซ่อนผ้า ช่วงชัย เพื่อสร้างความสนุกสนานให้แก่หนุ่มสาวด้วย ส่วนผู้เฒ่าผู้แก่ จะคอยฟังเสียงฟ้าร้อง โดยเชื่อว่า ๑. ถ้าฟ้าร้องทางทิศเหนือ หรือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ทำนายว่า ฝนจะดี ทำนาได้ผลดี ๒. ถ้าฟ้าร้องทางทิศใต้ และทิศตะวันตก ทำนายว่า ฝนจะแล้ง การทำนาจะเสียหาย ข้าวจะยาก หมากจะแพง ๓. ถ้าฟ้าร้องทางทิศตะวันออก ทำนายว่า ฝนตกปานกลาง นาลุ่มจะดี นาดอนจะเสียหาย
สาระ
เพื่อความสามัคคีพร้อมเพรียงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ประเพณีกวนข้าวทิพย์ จ.ชัยนาท



ช่วงเวลา
วันที่ ๔ ธันวาคม ของทุกปี ณ หมู่บ้านหนองพังนาค ตำบลเสือโฮก อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท ชาวบ้านจะทำพิธีกวนข้าวทิพย์ หรือข้าวมธุปายาธจนเป็นประเพณีที่สืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน




ความสำคัญ
ตามประวัติสมัยพุทธกาล เชื่อว่านางสุชาดา ได้นำข้าวทิพย์ หรือข้าวมธุปายาธถวายพระพุทธเจ้า ก่อนที่พระองค์จะได้ตรัสรู้ในวันเพ็ญเดือนสิบสอง ดังนั้นชาวพุทธจึงถือว่าข้าวทิพย์ หรือข้าวมธุปายาธเป็นอาหารทิพย์ และได้ทำถวายแด่พระสงฆ์ในฤดูก่อนเดือนสิบสอง

พิธีกรรม
เนื่องจากวัสดุที่สำคัญในการทำข้าวทิพย์ คือน้ำข้าวจากต้นข้าวที่กำลังเป็นน้ำนม ใน ประเทศไทยเชื่อกันว่ามีหลายจังหวัดที่ทำสืบเนื่องกันมาเป็นเวลานานถึงปัจจุบัน แต่สำหรับจังหวัดชัยนาทมีทำกันตลอดที่ตำบลเสือโฮก อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท ทำกันแทบทุกหมู่บ้าน แต่ปัจจุบันทำกันตลอดมาทุกปีจนถือเป็นประเพณีที่หมู่บ้านหนองพังนาค


สาระ
ประเพณีกวนข้าวทิพย์ เป็นประเพณีที่สร้างความสามัคคีในกลุ่มชนในอันที่จะร่วมกันนำเอาวัสดุข้าวของต่าง ๆ มาร่วมทำบุญ เมื่อเสร็จและถวายเป็นพุทธบูชาก็แบ่งปันกันไปรับประทานเพื่อความเป็นสิริมงคล


ประเพณีสู่ขวัญข้าว จ.นครนายก



ช่วงเวลา
ประเพณีสู่ขวัญข้าว (ทั่วไป) บุญสู่ขวัญข้าว (หมู่บ้านเนินใหม่ ตำบลโคกกรวด) เรียกขวัญข้าว (หมู่บ้านท่าด่าน) กระทำในวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ ี






ความสำคัญ
เพื่อเรียกขวัญพระแม่โพสพที่ตกหล่นตามท้องนาขึ้นสู่ยุ้งฉาง บูชาพระแม่โพสพ ป้องกันศัตรูพืชและสัตว์ทำลาย เพื่อให้ได้ผลผลิตมากในปีต่อไป


พิธีกรรม
โดยทั่วไปชาวนาต่างก็ทำพิธีโดยให้เจ้าของนาฝ่ายหญิงนุ่งขาว ห่มขาวเป็นผู้ทำพิธีตอนเช้าตรู่โดยเตรียมอุปกรณ์ ได้แก่ ข้าวต้ม เผือก มัน ไข่ ขันธ์ ๕ ขวดน้ำ แก้วแหวนเงินทอง แป้ง หวี กระจก ผ้าสไบ (อาจมีเพิ่มเติมหรือแตกต่างตามท้องถิ่น) นำสิ่งของเหล่านี้ห่อด้วยผ้าขาว ใส่กระบุงหรือบางท้องที่ปิดกระบุงด้วยผ้าขาว นำขอฉายคอนกระบุง (บางหมู่บ้านใช้ผ้าสีผูกให้สวยงาม) เดินไปตามท้องนา เจตนาของตน ร้องเรียกแม่โพสพ ใจความคือเชิญแม่โพสพที่ตกหล่นอยู่ให้มาอยู่ในยุ้ง ฉาง บางหมู่บ้าน เพื่อนบ้านขานรับจนถึงบ้าน นำกระบุงไปไว้ในยุ้งข้าว บางหมู่บ้านมีพราหมณ์ทำพิธีเรียกขวัญเข้ายุ้ง โดยมีการตั้งบายศรี และเครื่องไหว้ในยุ้ง การสู่ขวัญด้วยสำนวนหรือภาษาถิ่นที่แตกต่างกันออกไป ในปัจจุบันประเพณีสู่ขวัญข้าวยังคงกระทำอยู่ในหมู่บ้านทั้งสี่อำเภอ เช่น หมู่บ้านหนองโพธิ์ ตำบลศรีนาวา สู่ขวัญข้าวร่วมกันและทำบุญเลี้ยงพระด้วย





สาระ


เพื่อเป็นการบำรุงขวัญและความเชื่อของชาวนา รวมถึงการแสดงความกตัญญูต่อพระแม่โพสพ เพื่อบันดาลให้ข้าวในปีหน้าได้ผลผลิตดียิ่งขึ้น

ประเพณีตักบาตรเทโว จ.อุทัยธานี


ช่วงเวลา
๑ วัน ในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ (วันออกพรรษา)
ความสำคัญ
งานตักบาตรเทโว เป็นงานประเพณีที่ชาวอุทัยธานียึดถือปฏิบัติกันมา ตั้งงแต่ครั้ง บรรพบุรุษ จนกลายเป็นเอกลักษณ์ที่ชาวอุทัยธานีทุกคนภูมิใจกันมาก เพราะเป็นการจัดงานตักบาตรเทโว ที่มีความสอดคล้องกับพุทธตำนานมากที่สุด กล่าวคือ ในสมัยพุทธกาล เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบรมศาสดาได้เสด็จขึ้นไปแสดงธรรมโปรดพุทธมารดายังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เป็นเวลา ๓ เดือนเต็ม จนกระทั่งพระพุทธมารดาได้บรรลุ ซึ่งพระอริยมรรค อริยผล เป็นพระอรหันต์ภูมิแล้วจึงเสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ลงมาสู่โลกมนุษย์ ซึ่งพระอินทร์ได้ให้พระวิศณุกรรมเนรมิตบันไดแก้วทอดให้พระพุทธองค์เสด็จโดยมีบันไดทองเบื้องซ้ายและบันไดเงินเบื้องขวาสำหรับ หมู่ เทพยดา พระอินทร์และพระพรหม ทอดลงมาสู่มนุษยภูมิที่มีสังกัสนคร วันที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลงมาสู่โลกมนุษย์นั้น เรียกว่า "วันเทโวโรหณะ" ซึ่งจะมีพระอรหันต์พร้อมด้วยสาธุชนมารอรับเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อการใส่บาตรอย่างมากมายขึ้นที่บริเวณนี้

พิธีกรรม
โดยเริ่มงานตั้งแต่เช้าตรู่ จะมีภิกษุสงฆ์ จำนวน ๕๐๐ รูป เดินตามขบวนแห่ พระพุทธรูปปางเสด็จจากดาวดึงส์ลงมาตามบันไดซึ่งภาพที่ปรากฏต่อสายตานั้นจะเหลืองอร่าม ไปด้วยสีผ้ากาสาวพัตรของพระภิกษุสงฆ์ทีทอดตัวลงมาอย่างช้า ๆ ส่วนสองข้างของบันไดจะปกคลุมไปด้วยหมอกควันสีขาว พวยพุ่งออกมาจนทำให้เห็นสีเหลืองเด่นชัด เป็นสง่างามน่าเลื่อมใสยิ่งนัก ครั้นพระภิกษุสงฆ์ ลงมาถึงลานวัดสังกัส รัตนคีรีแล้ว

ประเพณีหามเริน จ. สงขลา




ช่วงเวลา
การเคลื่อนย้ายเรือนด้วยการช่วยกันหามจากที่เก่าไปวางไว้ที่ใหม่โดยไม่ต้องรื้อถอนเรือน




ความสำคัญ
เนื่องจากเรือนของชาวภาคใต้ไม่ได้ขุดหลุมเสา แต่จะวางเสาเรือนไว้บน "ตีนเสา" เมื่อเจ้าของต้องการจะเคลื่อนย้ายเรือนไปตั้ง ณ ที่ใหม่ ก็ใช้วิธีการออกปากเพื่อนบ้านมาช่วยกันหามแทนการรื้อถอน สามารถเข้าอยู่ได้ทันที

พิธีกรรม
ก่อนที่จะมีการหามเริน เจ้าของบ้านจะต้องขนย้ายข้าวของที่วางอยู่บนบ้านนั้นออกให้หมด ถ้าเป็นบ้านมุงหลังคาด้วยกระเบื้องก็จะรื้อกระเบื้องทั้งหมดออกเสียก่อน เพื่อกันกระเบื้องแตกเสียหายและช่วยลดน้ำหนักของบ้าน หากบ้านหลังนั้นปูพื้นบ้านหรือกั้นด้วยกระดาน ก็จะรื้อไม้กั้นออกเป็นแผง ๆ หรืองัดไม้ปูพื้นออกเป็นแผ่น ๆ เพราะจะได้ประกอบกลับสู่สภาพเดิมได้สะดวกรวดเร็ว และสามารถเข้าอยู่ได้ทันที หลังจากขนย้ายข้าวของและรื้อบ้านบางส่วนเสร็จแล้ว เจ้าของบ้านจะออกปากไหว้วานเพื่อนบ้านมาช่วยกันหามเรินตามวันเวลาที่กำหนด ถ้าบ้านหลังใหญ่มีน้ำหนักมากจะใช้ไม้กลมหรือไม้เหลี่ยมที่มั่นคงแข็งแรงและมีความยาวพอสอดทแยงเข้าใต้ถุนบ้าน แล้วผูกคาดไว้กับรอดหรือตงหรือเสาอย่างแน่นหนา ให้ปลายข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างยื่นเลยออกมาเพื่อหาม จะได้มีที่แบกหามเพิ่มขึ้น ก่อนที่จะหามเรินไปถึงที่ตั้งใหม่ ให้นำตีนเสาวางให้ได้ที่และปรับระดับให้เรียบร้อย แล้วยกบ้านขึ้นวางไว้เหนือตีนเสานั้น เป็นการเสร็จสิ้นการหามเริน ส่วนการมุงหลังคา กั้นฝา ปูพื้น เป็นหน้าที่ของเจ้าของบ้านจะเป็นผู้ดำเนินการต่อไป การหามเริน จะเลือกทำเฉพาะกรณีที่สถานที่ที่ตั้งใหม่ไม่ห่างไกลจากที่ตั้งเดิมมากนัก และมักจะทำในหน้าแล้ง เพื่อไม่ต้องแบกหามผ่านทางที่เป็นดินโคลนดินอ่อนที่มีน้ำขัง ซึ่งจะทำให้การเดินลำบาก ถ้าหากสถานที่ตั้งใหม่อยู่ห่างไกลมักจะใช้วิธีการลากแทนการหาม

สาระ
การหามเรินเป็นประเพณีของการเคลื่อนย้ายเรือนไปอยู่ที่ใหม่ในสภาพเดิมเป็นการประหยัดเวลาและวัสดุก่อสร้างในการสร้างใหม่

ประเพณีการแห่นก จ.นราธิวาส



ช่วงเวลา
ในการแห่นกนั้นได้มีการจัดขึ้น ในโอกาสต่าง ๆ เพื่อความสนุกสนานรื่นเริง หรือในโอกาสการต้อนรับแขกเมืองของชาวนราธิวาส และยังจัดในพิธีการเข้าสุหยัด



ความสำคัญ

ประเพณีการแห่นก เป็นประเพณีการทางพื้นเมืองของจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะที่นราธิวาส ซึ่งได้มีการกระทำสืบเนื่องกันมาเป็นเวลานาน เป็นประเพณีนิยมที่ไม่เกี่ยวข้องกับทางศาสนา ไม่เป็นประเพณีตามนักขัตฤกษ์ แต่จัดขึ้นเป็นครั้งคราวตามโอกาส เพื่อความสนุกรื่นเริง เป็นการแสดงออกเกี่ยวกับการใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ในศิลปะและอาจจัดขึ้นในการแสดงความคารวะ แสดงความจงรักภักดี แก่ผู้ใหญ่ที่ควรเคารพนับถือ หรือในโอกาสต้อนรับแขกเมือง บางทีอาจจัดขึ้นเพื่อความรื่นเริงในพิธีการเข้าสุนัต หรือที่เรียกว่า "มาโซยาวี" หรือจัดขึ้นเพื่อประกวดเป็นครั้งคราว นกที่นิยมทำขึ้นเพื่อการแห่มีเพียง ๔ ตัว คือ
๑. นกกาเฆาะซูรอหรือ นกกากะสุระ นกชนิดนี้ตามสันนิษฐานคือ "นกการเวก" เป็นนกสวรรค์ที่สวยงามและบินสูงเทียมเมฆการประดิษฐ์มักจะตบแต่งให้มีหงอนสูงแตกออกเป็น ๔ แฉก นกชนิดนี้ชาวพื้นเมืองเรียกว่า "นกทูนพลู" เพราะบนหัวมีลักษณะคล้ายบายศรีพลู และมีการทำให้แปลกจากนกธรรมดา เพราะเป็นนกสวรรค์
๒. นกกรุดา หรือ นกครุฑ มีลักษณะคล้ายกับครุฑ เชื่อกันว่านกชนิดนี้มีอาถรรพ์ ผู้ทำมักเกิดอาเพศ มักเจ็บไข้ได้ป่วย ในปัจจุบันจึงไม่นิยมจัดทำนกชนิดนี้ ในขบวรแห่
๓. นกบือเฆาะมาศ หรือนกยูงทอง มีลักษณะคล้ายกับนกกาเฆาะวูรอ มีหงอน สวยงามเป็นพิเศษ ชาวไทยมุสลิมยกย่องนกยูงทองมาก และไม่ยอมบริโภคเนื้อ เพราะเป็นนกที่รักขน การประดิษฐ์ตกแต่งรูปนกพญายูงทองนั้น จึงมีการตกแต่งที่ประณีตถี่ถ้วนใช้เวลามาก
๔. นกบุหรงซีงอ หรือนกสิงห์ มีรูปร่างคล้ายราชสีห์ ตามคตินกนี้มีหัวเป็นนก แต่ตัวเป็นราชสีห์ ปากมีเขี้ยวงาน่าเกรงขาม

พิธีกรรม
ประเพณีการแห่นกนั้น สันนิษฐานว่า จะมีพิธีกรรมบางอย่าง เช่น การตั้งพิธีสวดมนต์ตามวิธีการทางไสยศาสตร์ เพื่อขับไล่หรือขจัดปัดเป่าทุกข์โศกโรคภัย ให้หมดสิ้นไปให้มีความสุข ความเจริญก้าวหน้า

สาระ
ประเพณีการแห่นกนั้นนอกจากที่ให้ความสนุกสนานแล้ว ยังให้คติ ความเชื่อ ความรัก ความสามัคคี และความเชื่อในการยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้ร่วมพิธีในการปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายต่าง ๆ และเป็นการอนุรักษ์ให้ประเพณีแห่นกยังคงอยู่สืบเนื่องต่อไป

ประเพณีนบพระเล่นเพลง จ.กำแพงเพชร


ช่วงเวลา

วันเพ็ญ เดือน ๓ (ประมาณเดือนกุมภาพันธ์-ต้นเดือนมีนาคม ของทุกปี)





ความสำคัญ
ประเพณีนบพระเล่นเพลง เป็นประเพณีที่สืบทอดมาจากสุโขทัย ซึ่งได้ กล่าวถึงว่า ในสมัยพญาลิไทได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากลังกามาบรรจุไว้ที่องค์พระเจดีย์ วัดพระบรมธาตุ ตำบลนครชุม ดังนั้นจึงได้มีการจัดขบวนของเจ้าผู้ครองนครไปนมัสการพระบรมธาตุ

พิธีกรรม
จังหวัดกำแพงเพชรได้ฟื้นฟูประเพณีนบพระเล่นเพลงขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ ด้วยการจัดขบวนแห่พยุหยาตราจำลองไป นบพระ และเวียนเทียนพระบรมธาตุเจดีย์ และได้มีการแสดงการละเล่น เล่นเพลง กันเป็นที่เอิกเกริก รวมทั้งจัดให้มีการแสดงแสงสีเสียงถึงประวัติความเป็นมาของการตั้งบ้านแปงเมือง นอกจากนี้ยังได้มีการออกร้านแสดงสินค้าหัตถกรรมท้องถิ่น

สาระ
การจัดงานนบพระเล่นเพลง ถือเป็นงานประจำปีของจังหวัดกำแพงเพชร เป็นการ ฟื้นฟูและเผยแพร่ประเพณีดั้งเดิมที่ถ่ายทอดให้กับคนรุ่นใหม่ได้เข้าใจถึงประวัติความเป็นมาของท้องถิ่นตน

ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ จ.เพชรบูรณ์




ช่วงเวลา
เทศกาลสารทไทยตรงกับวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐




ความสำคัญ

ประเพณีอุ้มพระดำน้ำเป็นประเพณีที่มีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย เกิดจากความเชื่อเกี่ยวกับอภินิหารของพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองคือพระพุทธมหาธรรมราชา ซึ่งคนหาปลาสองสามีภรรยาทอดแหได้ที่วังเกาะระสารในบริเวณลุ่มน้ำป่าสักในเขตตัวเมืองเพชรบูรณ์ จึงนำไปไว้ที่วัดไตรภูมิ เมื่อถึงเทศกาลสารทพระพุทธรูปองค์นี้จะหายไปและชาวบ้านจะพบมาเล่นน้ำที่บริเวณที่ค้นพบเดิม ดังนั้นในเทศกาลทำบุญสารทหลังจากทำบุญเสร็จแล้วจะมีพิธีอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชาลงริ้วขบวนเรือไปสรงน้ำที่วังเกาะระสาร แต่ปัจจุบันนำมาทำพิธีที่ท่าน้ำของวัดโบสถ์ชนะมารในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐


พิธีกรรม
๑. จัดให้มีการตั้งศาลเพียงตาแล้วอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชามาประทับ ทำพิธีสวดคาถา โดยพราหมณ์ผู้ทำพิธีนุ่งขาวห่มขาวแล้วอัญเชิญขึ้นบนบุษบกให้ประชาชนได้กราบไหว้บูชาและมีงานฉลองสมโภช

๒. จัดให้มีพิธีอุ้มพระดำน้ำในตอนเช้าหลังทำบุญสารทโดยมีขบวนเรือแห่ นำไปโดยผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อถึงบริเวณวัดโบสถ์ชนะมาร เจ้าเมืองพร้อมข้าราชบริพารจะอุ้มพระลงดำน้ำ โดยหันหน้าองค์พระไปทิศเหนือ ๓ ครั้ง ทิศใต้ ๓ ครั้ง ชาวบ้านจะโปรยข้าวตอก ดอกไม้และข้าวต้มกลีบ เมื่อดำน้ำเสร็จชาวบ้านจะตักน้ำรดศีรษะและรดกันเองเพื่อเป็นสิริมงคล


สาระ
ชาวบ้านเชื่อว่าถ้าทำพิธีอุ้มพระดำน้ำแล้วจะทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล