วันพฤหัสบดีที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง



ช่วงเวลา


ช่วงเทศกาลออกพรรษา ในระหว่างวันขึ้น 12-15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี




รูปแบบประเพณี


ในวันขึ้น 14 ค่ำ จะเป็นวันแห่ปราสาทผึ้งที่ยิ่งใหญ่ตระการตา เพื่อนำปราสาทผึ้งไปตั้งไว้เป็นพุทธบูชา ณ บริเวณวัดพระธาตุเชิงชุมชวรวิหาร ด้วยความศรัทธาของชาวอีสาน ที่เชื่อว่าในเทศกาลออกพรรษาพระพุทธเจ้าจะเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อมาโปรดเวไนยสัตว์ในโลกมนุษย์ให้พ้นทุกข์

ประเพณีเข้าพรรษา จ.อุบลราชธานี



ช่วงเวลา


เข้าพรรษา


ความสำคัญ

เทศกาลเข้าพรรษา เพื่อปรารถนาให้ตนเองเป็นผู้เฉลียวฉลาด มีไหวพริบ ประดุจ แสงสว่างของดวงเทียน
เทียนพรรษา คือ เทียนขนาดใหญ่และยาวเป็นพิเศษกว่าเทียนชนิดอื่น สำหรับจุดใน โบสถ์ตั้งแต่วันเข้าพรรษาจนถึงวันออกพรรษา


พิธีกรรม

เป็นการแสดงออกถึงความสามัคคีกลมเกลียวในหมู่คณะไปในตัว การสรรหาภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่มีฝีมือทางช่าง มีความรู้ ความชำนาญในเรื่อง การทำลวดลายไทย การแกะสลักลวดลายลงบน ต้นเทียน การทำเทียนให้เป็นลายไทย แล้วนำไปติดบนต้นเทียน การประดับด้วยผ้าฝ้าย ผ้าไหม ดอกไม้สด ล้วนแล้วแต่เป็นฝีมือของช่างในท้องถิ่น ส่วนการจัดขวนแห่ก็ล้วนแต่ใช้ของพื้นเมือง เช่น เครื่องแต่งกายขอขบวนฟ้อน จะใช้ผ้าพื้นเมืองเป็นหลัก การฟ้อนรำจะใช้ท่ารำที่ดัดแปลงมาจาก วิถีชีวิต การทำมาหากินของชาวบ้าน เป็นท่ารำในรูปแบบของศิลปะที่งดงาม ดนตรีประกอบก็เป็น เครื่องดนตรีประจำถิ่น ผสมเข้ากับการขับร้องที่สนุกสนานเร้าใจ ทำให้งานประเพณีนี้ยิ่งใหญ่ ประชาชนต่างเฝ้ารอคอย

ประเพณีผีตาโขน จ. ขอนแก่น


รูปแบบประเพณี
งานประเพณีแห่ผีตาโขน ผูกพันแนบแน่นกับองค์พระธาตุศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองคือ องค์พระธาตุศรีสองรักษ์ ที่เชื่อกันว่าสร้างขึ้นโดยพระมหาจักรพรรดิฝ่ายกรุงศรีอยุธยาและพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชฝ่ายกรุงศรีสัตนาคนหุด เพื่อเป็นประจักษ์พยานถึงมิตรภาพระหว่างกัน วงจรของประเพณีผีตาโขน เริ่มต้นขึ้นโดยบุคคลศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองสองคนคือ เจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียม ที่มีฐานะเป็นดังผู้วิเศษหมอผี และครูใหญ่ของเมืองที่มีหน้าที่หลักในการดูแลองค์พระธาตุศรีสองรัก พระธาตุคู่เมืองด่านซ้ายโดยเจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียม จะเป็นจุดเริ่มต้นวงจรของประเพณีนี้เริ่มต้นจากพิธีบายศรีที่บ้านของเจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียมในภาคเช้า และระหว่างที่พิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์กำลังดำเนินอยู่นั่นเอง เด็ก ๆ ในทุกบ้านเรืองของเมืองด่านซ้ายก็จะช่วยกันจัดหาเศษผ้ามาเย็บเป็นเสื้อผ้าของผีตาโขน หาอุปกรณ์คือหวดนึ่งข้าวเหนียวและแกนก้านมะพร้าวมาทำหน้ากากผีตาโขนด้วยการวาดลวดลายเพิ่มสีสันเป็นผีตาโขนที่หน้าตาโหดร้ายน่ากลัว หา "หมากกะแหล่ง" หรือกระดึงผูกคอวัวควายมาทำเป็นเครื่องประดับ และที่สำคัญที่สุดที่ผีตาโขนหลายตัวประณีตบรรจงประดิดประดอยเป็นที่สุดก็คือ อาวุธของผีตาโขนเป็นดาบใหญ่ ทำด้วยไม้มีทีเด็ดของดาบอยู่ที่ปลายด้ามดาบที่ทำเป็นรูปปลัดขิกอันโต ทายอดกลม ๆ เป็นสีแดงแจ๋ เอาไว้ไล่จิ้มสาว ๆ ในเมืองโดยเฉพาะ ในภาคบ่ายจะเป็นพิธีการในฝ่ายราชการ เป็นการแห่ผีตาโขน โดยจัดรูปขบวนแห่ อันประกอบด้วยผีตาโขนใหญ่ ที่ทำเป็นหุ่นใหญ่คล้ายหัวโตของภาคกลาง และผีตาโขนเล็ก เป็นเด็ก ๆ ผู้ชายในเมืองเกือบทั้งหมด ภาคค่ำเป็นการชุมนุมกันฟังเทศน์มหาชาติของผู้เฒ่าผู้แก่และผู้ใหญ่ในเมือง ส่วนในวันที่สอง ตั้งแต่เช้าเป็นการออกอาละวาดไปทั่วเมืองของชาวผีตาโขน และตกช่วงบ่ายจะเป็นพิธีจุดบั้งไฟขอฝน เป็นอันหมดสิ้นประเพณีแห่ผีตาโขนรวม 2 วันกับหนึ่งคืนด้วยกัน

จุดเด่นของพิธีกรรม
จุดเด่นที่สุดของงานนี้จะมีอยู่ด้วยกันสองช่วงคือ ภาคบ่ายวันแรกอันเป็นขบวนแห่ผีตาโขนอันน่าสนุกสนานและสวยงาม และวันที่สองช่วงสายที่ผีตาโขนจะออกอาละวาดไปทั่วเมือง

ประเพณีบุญผะเหวด จ.เลย



ช่วงเวลา


จัดขึ้นในเดือนที่ 4 ของไทยหรือเดือนมีนาคม โดยกำหนดจัดงานในวันเสาร์และอาทิตย์แรกของเดือนมีนาคมทุกปี




ความสำคัญ
หลายคนคงจะสงสัยอยู่ว่าคำว่า "ผะเหวด" มีความหมายอย่างไร คำว่า "ผะเหวด" นั้นเป็นการออกเสียงตามสำเนียงอีสาน มาจากคำว่า "พระเวส" หมายถึงพระเวสสันดร งานบุญผะเหวดเป็น 1 ในประเพณี 12 เดือน หรือ ฮีตสิบสอง ของชาวอีสาน (การทำบุญประเพณี 12 เดือน) ประเพณีบุญผะเหวดหรือบุญเดือนสี่นั้น สะท้อนให้เห็นถึงความศรัทธาอันแรงกล้าในพระพุทธศาสนา ซึ่งชาวอีสานยึดถือและปฏิบัติกันมาช้านานและอย่างเคร่งครัด เพราะถือว่าเป็นงานบุญใหญ่ที่สุดก็ว่าได้ การจัดงานบุญผะเหวดนั้นอยู่ที่การเทศน์เรื่องพระเวสสันดรชาดกหรือเทศน์มหาชาติ มีจำนวนทั้งหมด 13 กัณฑ์ โดยชาวอีสานมีความเชื่อว่าถ้าหากว่าฟังเทศน์ครบทั้งหมดวันเดียวและจัดเตรียมเครื่องคาย (บูชา) ได้ถูกต้อง ก็จะได้เกิดในศาสนาพระอริยเมตไตรย แต่ถ้าหากตั้งเครื่องคาย (บูชา) ไม่ถูกต้อง จะทำให้เกิดอาเพศและสิ่งไม่ดีต่างๆ ตามมา จึงทำให้ทุกคนในหมู่บ้านให้ความสำคัญกับงานนี้อย่างมาก โดยจะมาทำพิธีร่วมกันอีกประการหนึ่ง คือ เพื่อระลึกถึงพระเวสสันดร พระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญเพียรบารมีชาติสุดท้ายของพระองค์ก่อนจะเสวยชาติ และตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในภายหลัง



ลัษณะประเพณี
บุณผะเหวด หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า บุญมหาชาติ เป็นประเพณีบุญตามฮีตสิบสองของชาวอีสาน แต่ถ้าถือเป็นเรื่องทาน ก็เป็นประเพณีการบริจาคทานครั้งยิ่งใหญ่ ในตำนานฮีตสิบสอง ได้กล่าวถึงการทำบุญผะเหวด ไว้ว่า "ฮอดเดือน ๔ ให้พากันเก็บ ดอกจาน สานบั้งไม้ไผ่เสียบดอกจิก ..." ก็พอจะอนุมานได้ถึงสภาพทั่วไปของชาว อีสานว่า ดอกจิก ดอกจาน บานราวต้นเดือนสาม พุทธศาสนิกชนจะเก็บดอกไม้เหล่านี้ มาร้อยเป็นมาลัยเพื่อตกแต่งศาลาการเปรียญสำหรับบุญมหาชาตินี้เอง และในงานนี้ ก็จะมีการเทศน์มหาชาติ ซึ่งถือว่าเป็นงานอันศักดิ์สิทธิผู้ใดฟังเทศน์มหาชาติจบภายในวันเดียว และบำเพ็ญคุณงามความดี จะได้อานิสงส์ ไปเกิดในภพพระอริยเมตไตรย์
ชาวอีสาน จะจัดทำบุญผะเหวด ปีละหนึ่งครั้ง ระหว่างเดือน ๓ เดือน ๔ ไปจนถึงกลางเดือน ๕ โดยจะมีวันรวม ตามภาษาอีสาน เรียกว่า วันโฮมบุญ พุทธศาสนิกชนมาช่วยกันจัดตกแต่งศาลาหรือสถานที่ที่จะทำบุญ จัดเตรียมเครื่องสักการะ ดอกไม้ ธูปเทียน ข้าวตอก อย่างละพันก้อน มีการตั้งธงใหญ่ ไว้แปดทิศ และมีศาลเล็กๆ เป็นที่เก็บข้าวพันก้อน และเครื่องคาวหวาน สำหรับ ผี เปรต และมาร รอบๆ ศาลการเปรียญจะแขวน ผ้าผะเหวด เป็นเรื่องราวของพระเวสสันดร ตั้งแต่กัณฑ์ที่ ๑ ถึงกัณฑ์สุดท้าย
บุญผะเหวด หรืองานบุญมหาชาติ คืองานมหากุศล ให้รำลึกถึงการบำเพ็ญบุญ คือ ความดีที่ยิ่งยวด อันมีการสละความเห็นแก่ตัว เพื่อผลคือ ประโยชน์สุขอันไพศาลของมวลชนมนุษย์ชาติ เป็นสำคัญ ดังนั้น บรรพชนชาวไทยอีสานแต่โบราณ จึงถือเป็นเทศกาล ที่ประชาชนทั้งหลายพึงสนใจร่วมกระทำบำเพ็ญ และได้อนุรักษ์สืบทอดเป็นวัฒนธรรมสืบมา จนถึงอนุชนรุ่นหลังที่ควรเห็นคุณค่า และอนุรักษ์เป็นวัฒนธรรมสืบไป

ประเพณีไหลเรือไฟ จ. นครพนม






ช่วงเวลา

ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 (วันออกพรรษา)



ความสำคัญ
เป็นประเพณีที่ชาวนครพนมภาคภูมิใจ เพราะบรรพบุรุษ ได้ยึดถือปฏิบัติกันมานานตั้งแต่โบราณ โดยมีความเชื่อในประเพณีว่าเนื่องมาจากการบูชารอย พระพุทธบาทการสักการะท้าวพกาพรหม การบวงสรวจพระธาตุจุฬามณี และการระลึกถึงพระคุณของพระแม่คงคาการขอฝน การเอาไฟเผาความทุกข์ และการบูชาพระพุทธเจ้า


พิธีกรรม
ประเพณีไหลเรือไฟ บางทีเรียกว่า “ลอยเรือไฟ” หรือ “ล่องเรือไฟ “หรือ “ปล่อยเรือไฟ” โดยเฉพาะท้องถิ่นที่มีชัยภูมิเหมาะสม คือ มีแม่น้ำหรือลำน้ำ เท่าที่ปรากฏจะมีแนวทางที่คล้ายกันและอยู่บนพื้นฐานความเชื่อต่าง ๆ อาทิ ความเชื่อเกี่ยวกับการบูชารอยพระพุทธบาท ความเชื่อเกี่ยวกับการบวงสรวงพระธาตุจุฬามณีบนสวรรค์ ความเชื่อเกี่ยวกับการขอฝน ความเชื่อในการเอาไฟเผาความทุกข์ ความเชื่อเกี่ยวกับการขอขมาและระลึกถึงพระคุณพระแม่คงคา เป็นต้น เรือไฟในสมัยโบราณนั้นมีรูปแบบที่เรียบง่าย โดยทำจากต้นกล้วยและลำไม้ไผ่ที่หาได้มาจัดทำเป็นโครงเรือไฟง่าย ๆ พอที่จะทำให้ลอยน้ำได้ การรประดับตกแต่งเรือไฟภายในเรือไฟจะประดับด้วยดอกไม้ ธูป เทียน ตะเกียง ขี้ไต้ สำหรับจุดให้สว่างไสว ก่อนจะปล่อย เรือไฟลงกลางลำน้ำโขง ปัจจุบันได้จัดทำเรือไฟรูปแบบต่างๆ โดยมีการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาใช้ประกอบในการจัดทำ และประดับตกแต่งให้วิจิตรตระการตามากยิ่งขึ้น เมื่อปล่อยเรือไฟเหล่านี้ลงกลางลำน้ำโขงภายหลังการจุดไฟให้ลุกโชติช่วง แล้วจะเป็นภาพที่งดงามและติดตาตรึงใจตลอดไป

ประพณีบวชลูกแก้ว จ.เชียงราย



ช่วงเวลา

นิยมบวชในเดือน ๖ และเดือน ๘





ความสำคัญ
ชาวเหนือเรียกว่า " ปอยลูกแก้ว " ในการบวชลูกแก้วนี้มีความหมายถึงการบวชเณรด้วย ส่วนมากแล้ว ชาวบ้านนิยมให้บุตรชายของตนเองบวชเณรมากกว่าบวชพระ เพราะมีความเชื่อว่าให้ลูกชายของตนบวชเณรจะได้บุญมากกว่าบวชพระ


พิธีกรรม
ในพิธีปอยลูกแก้วนี้จะมีการจัดหาหญิงสาว ๒ - ๓ คนมาเป็นคนถือพาน ในพานนี้มีจีวร สบง และผ้าอังสะ เป็นต้น ในวันแห่ลูกแก้ว พ่อแม่ที่เป็นเจ้าภาพก็จะช่วยกันแต่งตัวลูกแก้วอย่างสวยงาม มีการสวมชฎาและประดับเครื่องแต่งกายอย่างวิจิตรตระการตา
มาก เอาลูกแก้วขึ้นขี่บนหลังม้า เดินขบวนแห่ด้วยกลองยาวอย่างเอิกเกริก บางทีก็มีเครื่องดนตรีพื้นเมืองร่วมด้วยในพิธีการเช่นนี้ บางแห่งถ้าเจ้าภาพจ้างคนมา " ซอ " เพื่อทำพิธีเรียก
ขวัญลูกแก้ว จะยิ่งใหญ่โตมากทีเดียว เพราะการเรียกขวัญนี้ชาวบ้านนิยมมากเป็นพิเศษ ตามปกติแล้วมีคนซอ ๒ คน เป็นผู้หญิงหนึ่งคน และผู้ชายหนึ่งคน แล้วจะมีการตอบโต้กันเป็น
เรื่อง ๆ ไป ว่ากันเป็นกลอนสด

ประเพณีขึ้นธาตุเดือน 9 จ.เพชรบูรณ์


ช่วงเวลา

ขึ้น ๑๔ และ ๑๕ ค่ำ เดือนเก้า ของภาคเหนือ (หรือเดือนเจ็ด ของภาคกลาง) ประมาณเดือนมิถุนายน (หรือปลายเดือนพฤษภาคม)


ความสำคัญ

เพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า


สาระ

เพื่อบวงสรวงและบูชาเทพยดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ขอพรให้ปกป้องรักษาคุ้มครองให้บ้านเมืองมี ความร่มเย็น บังเกิดความสุขความเจริญแก่ประชาชนทั้งปวง